หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

รถยนต์แห่งอนาคต

มองเทคโนโลยีและสังคมไปกับรถยนต์แห่งอนาคต


    รถยนต์ คือ พาหนะที่เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าของสังคม ทั้งในด้านเทคโนโลยี พลังงาน และวิถีชีวิต รถไม่ได้ชี้วัดได้เพียงภาพปัจจุบันของสังคม แต่ยังสามารถทำนายถึงความเป็นไปใน “อนาคต” ด้วย นี่คืออีกหนึ่งภารกิจหลักของค่ายรถทั่วโลก (นอกจากการทำยอดขาย) ที่จะต้องค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อวาดภาพ “รถยนต์แห่งอนาคต” (Future Car) ให้ผู้คนมองเห็นว่า ในอีก 10 – 50 ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ของยานยนต์กับมนุษย์และสังคม…มันจะเป็นไปเช่นไร
    ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนารถยนต์แห่งอนาคตต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหลัก 3 อย่าง อันได้แก่ 
          1. พลังงาน ศักยภาพของรถยนต์แห่งอนาคตย่อมขึ้นอยู่กับพลังงานเป็นหลัก ซึ่งคำตอบสุดท้ายต่อไปจากนี้คงหนีไม่พ้น “พลังงานทางเลือก” ที่ต้องสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง อาทิเช่น พลังงานไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดรถยนต์แบบ Plug-in ที่จะเปลี่ยนโฉมปั๊มน้ำมันในโลกอนาคตให้เป็นสถานีจ่ายไฟโดยการเสียบปลั๊ก





    แต่ละบ้านจะต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าของตัวเอง โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลม ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้า “สมาร์ทกริด” (Smart Grid) ที่กำลังพัฒนากันอยู่ในหลายประเทศ (ที่เมืองไทยก็เริ่มแล้วในเชียงใหม่) นอกจากนั้นแล้ว ในอนาคตต่อไปยังอาจจะมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน, รถยนต์พลังแรงดันอากาศ (ด้วยระบบบีบอัดแรงดันสูงที่ปล่อยอากาศมาขับเคลื่อนรถ เป็นพลังสะอาดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม), รถยนต์ไฮบริดที่สามารถสลับระบบการใช้พลังงานได้หลายประเภท ออกมาเป็นทางเลือกเพิ่มเติมอีก





    2. วัสดุ เพื่อการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รถยนต์ในยุคหน้าจะมองหาวัสดุใหม่ที่ทนทานขึ้นแต่มีน้ำหนักเบาลง เหล็กทั้งหลายจะถูกแทนที่ด้วย Duraluminum, Fiberglass, Carbon Nano Fiberglass ฯลฯ ในขณะที่กระจกรถ (Windshield) ก็จะเป็นเทคโนโลยีนาโน ซึ่งน้ำ ฝุ่น โคลน ไม่เกาะ และให้ทัศนวิสัยดีเยี่ยม
    3. เทคโนโลยีการควบคุมรถ ขณะนี้มีการศึกษาและทดลองนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาผสานกับโครงสร้างของถนนในรูปแบบใหม่ มันสามารถจัดระบบการจราจร เข้าควบคุมพวงมาลัย เกียร์ คันเร่ง ได้โดยข้อมูลที่ตั้งค่าไว้ ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีนี้จะส่งผลให้ท้องถนนในวันหน้ามีระบบระเบียบมากขึ้น ผู้คนเดินทางได้เร็วขึ้น ประหยัดพลังงาน แก้ปัญหารถติด ลดอุบัติเหตุ ฯลฯ โดยระบบนี้จะทำงานร่วมกับรถยนต์โรบอท (Robotic car) ที่ไม่พึ่งพาคนขับ (Driverless) ผู้ใช้รถสามารถผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมอื่นไปในระหว่างเดินทางได้





    การครอบครองและค่านิยมที่มีต่อรถ ข้อเท็จจริงคือ คนใช้รถราว 50% ของโลกอาศัยอยู่ในมหานครที่แออัด ปัญหาการจราจรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ทำให้การจะมีรถสักคันเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก “เราอยากแค่มีรถใช้ หรือ อยากเป็นเจ้าของรถกันแน่นะ?” ซึ่งนี่เองคือที่มาว่าทำไมแนวคิด “รถยนต์ที่ไม่ต้องขับ” จึงฟังดูน่าอภิรมย์ และทำให้ความรู้สึก “อยากมีรถในครอบครอง” ของผู้คนลดน้อยลงเรื่อยๆ
    คำถามที่ตามมาคือ แล้วบริษัทผู้ผลิตรถทั้งหลายจะรับกับกระแสนี้ได้ไหม? ที่เห็นคือ บริษัทรถยนต์หลายแห่งที่มีวิสัยทัศน์ ได้เริ่มคิดค้นและทดลองออกแบบรถยนต์ให้เป็น “มากกว่ารถ” โดยพวกเขาได้เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้รถคันหนึ่งสามารถนำเสนอ “ประสบการณ์และประโยชน์อื่นๆ” ให้กับผู้ใช้ด้วย อาทิเช่น การเป็นเลขาส่วนตัว ทั้งขับรถให้ จัดตารางงาน เชื่อมต่อไปยังความสะดวกสบายอื่นๆ (ผ่านอินเตอร์เน็ต) ไม่ว่าจะเป็นระบบนำทาง ระบบแจ้งจุดจอดรถที่สะดวก สาระบันเทิง ฯลฯ ภายใต้วิถีของการปฏิรูปเมืองและถนนที่จะเข้ามารองรับกับความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีและพลังงานทางเลือกใหม่ๆ




    อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะก้าวไปไกลถึงโลกอนาคต ปัจจุบัน ก็มีกระแสความคิดอันหนึ่งที่เริ่มเปลี่ยนค่านิยมของผู้คนต่อ “รถ” ไปแล้วบ้าง นั่นก็คือแนวคิด “รถเช่าสาธารณะ” ที่สามารถเป็นตัวแทนของความอิสระและตัวตนที่แตกต่างไปพร้อมๆ กัน
    ทุกวันนี้ หลายคนมองว่า การเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันเป็นภาระราคาแพง ไอเดียของการแชร์รถยนต์ร่วมกัน (Car Sharing) จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะฝ่ายผู้บริโภคยังรู้สึกได้ถึงอิสระในการเดินทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ความภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย (ค่านิยมใหม่ของผู้บริโภคที่เน้นการแบ่งปันมากกว่าการครอบครอง)





    องค์กรที่ให้บริการ Car Sharing ในลักษณะนี้จะทำงานคล้ายกับบริษัทรถเช่ารถ แต่จะไม่ได้เป็นไปเพื่อการพาณิชย์ (ส่วนมากแล้วจะเป็นสมาชิกชุมชนบริหารจัดการกันเอง หรือดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) โดยรูปแบบคือ มีเจ้าของรถใชุมชนนำรถออกมาให้คนเช่าใช้ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไรอื่นใดมากมายไปกว่า “การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถของคนในสังคม”






    บริการเช่นนี้ถือเป็นกระแสใหม่ที่ไม่ได้มอบแค่ความประหยัดและสะดวก แต่ยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในด้านการลดจำนวนรถยนต์ ลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ฯลฯ แม้จะแตกต่างจากวิถีความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการพัฒนาซอฟแวร์สุดล้ำข้างต้น แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้…ย่อมมีผลต่ออนาคตแน่นอน และนี่ก็อาจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ค่านิยมใหม่ในการบริโภค” ที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคำว่า “รถ” ไปอย่างแน่นอนในวันข้างหน้า




    อ้างอิงข้อมูล: http://en.wikipedia.org/wiki/Future_car_technologies



    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น