เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในอนาคต
จากการสำรวจของสถาบันวิจัยระดับโลกเช่น MIT, Battelle NISTEPและRand ในปี พ.ศ.2548-2549 พบว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (emerging technology) ที่เกิดขึ้นในโลก สามารถจัดกลุ่มได้ 4 กลุ่มหลัก คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีอื่น โดยทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในภาพรวมจะเป็นไปใน 3 ลักษณะคือ 1) เทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในลักษณะของสหสาขาวิทยาการ 2) เทคโนโลยีในแต่ละสาขาจะแตกแขนงในเชิงลึกมากขึ้นเพื่อสร้างความรู้ใหม่ และ 3) เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้
ในที่นี้ ผู้วิจัยจะได้กล่าวถึงเทคโนโลยีรายสาขาที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์และการศึกษาอนาคต ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจศึกษาภาพการศึกษาไทยในอนาคต ดังนี้
1.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนความรู้ ข้อมูลข่าวสารในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แนวโน้มของการพัฒนาและรูปแบบการใช้เทคโนโลยีสามารถแบ่งได้ 6 ด้านหลัก ดังนี้
1.การให้บริการแบบหลอมรวมสื่อ เป็นการบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีแพร่ภาพกระจายโดยอินเทอร์เน็ตจะเป็นตัวกลางสำคัญของการหลอมรวมสื่อโทรคมนาคมสารสนเทศและวิทยุโทรทัศน์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างบริการที่หลากหลาย
2.การแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบดิจิทัล เป็นระบบการแพร่ภาพกระจายเสียงที่มีความคมชัดสูง สามารถแพร่ภาพได้หลายช่อง มีบริการโต้ตอบและการเสริมที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางไกล โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีขึ้น
3.การเชื่อมต่อเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีไร้สาย จะทำให้การเข้าถึงและเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
4.การพัฒนามาตรฐานเปิด จะทำให้เทคโนโลยีจากผู้ค้ารายต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ การแข่งขันของผู้ให้บริการมากขึ้นและทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกทางเทคโนโลยีมากขึ้น
5.การแพร่กระจายของโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศจะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนในลักษณะห้องเรียนเสมือน (virtual classes) จะถูกนำมาใช้สร้างการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบและนอกระบบเพิ่มมากขึ้น
6.การจ้างงานในยุคดิจิทัลหรือยุคข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะมีนัยสำคัญต่อการจ้างงานในอนาคต ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งช่วยให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ มีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
ลักษณะแนวโน้มทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังกล่าวนี้ จะมีผลอย่างสำคัญต่อระบบการศึกษาทั้งศึกษาในระบบ การศึกษานอกนระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่จะมีความเข้มข้นของการนำไปใช้และเป็นกลไกการพัฒนาและสนับสนุนการเรียนการสอนท่ามกลางภาวการณ์ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของโลกอนาคต
2. เทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีการนำสิ่งมีชีวิตหรือผลผลิตจากสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะแนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า ใน 3 ด้านคือ
1.ด้านการแพทย์ มนุษย์จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการรักษา และความสำคัญกับการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงมากกว่าการรักษาแบบทั่วไป
2.ด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยทำให้การปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ทำได้เร็วและมีความจำเพาะมากขึ้น
3.ด้านอุตสาหกรรม ผู้บริโภคอาจจะยอมรับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น การผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้จุลินทรีย์ ดัดแปลงพันธุ์กรรมด้วยเทคโนโลยี การหมักจะถูกนำมาใช้มากขึ้นและเทคโนโลยีชีวภาพจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมและการผลิตพลังงานทางเลือก เมื่อเทคโนโลยีชีวภาพมีบทบาทก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามากขึ้น การศึกษาจะต้องเข้าไปมีส่วนเตรียมการและเตรียมคนเพื่อสร้างสมดุลในวิถีชีวิตอนาคตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา ที่จะต้องเตรียมหลักสูตรและทิศทางการเรียนการสอน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับสถานการณ์และบทบาทของเทคโนโลยีชีวภาพให้ได้อย่างมีคุณภาพ
3.นาโนเทคโนโลยี
นาโนเทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีประยุกต์เกี่ยวกับโครงสร้างขนาดเล็กจิ๋วซึ่งเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอื่นในลักษณะสหสาขาวิทยาการ ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การจัดลำดับความสำคัญของการนำนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์อย่างเป็นระบบ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1.ด้านวัสดุนาโน เป็นการประยุกต์นาโนเทคโนโลยี ในการผลิตหรือสังเคราะห์วัสดุต่างๆ ที่มีขนาดระดับนาโนเมตร เช่นการสังเคราะห์ท่อนาโนคาร์บอนที่มีความเหนียวสูงกว่าเหล็กกล้า แต่มีน้ำหนักเบากว่า เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
2.ด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หรือไฮเทค เช่น การผลิตฟิล์มบางแบบสารอินทรีย์เปล่งแสง เพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์แสดงผล เป็นต้น
3.ด้านนาโนเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้านการเกษตร อาหารการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคโดยใช้นาโนไบโอเซ็นเซอร์ เป็นต้น
4.ด้านพลังงาน เป็นการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในด้านพลังงาน เช่น การใช้ฟิล์มบางสารอินทรีย์ที่มีความบางในระดับนาโนเมตร มาใช้เป็นส่วนประกอบของเซลล์สุริยะในการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้า เป็นต้น
4. ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี
จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่มีความเป็นไปได้และมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย 18 สาขา ได้แก่ 1) เทคโนโลยีสีเขียวแบบผสมผสาน 2) เซลล์แสงอาทิตย์และเซลล์เชื้อเพลิง 3) ชีวโมเลกุลที่ผลิตในแบคทีเรีย 4) ชีววิทยาระบบ 5) ระบบตรวจสอบขั้นสูง 6) พลังงานเชื้อเพลิงทางเดียว 7) เครื่องจักรนาโน 8) เทคโนโลยีเชื่อมต่อแบบไร้สาย 9) เทคโนโลยีระบบเตือนภัยธรรมชาติ 10) พันธุ์วิศวกรรมใหม่เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข 11) การโคลนนิ่งเพื่อรักษาโรค 12) silicon photonics 13) วิทยาการทางสมองและการเรียนรู้ 14) การเกษตรที่มีสมดุลกับระบบนิเวศ 15) การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำด้วยวิทยาการจีโนมและชีวภาพ 16) เทคโนโลยีชีวมวล 17) นาโนอิเล็กทรอนิกส์ 18) ยาจากเทคโนโลยีชีวภาพที่ผสมผสานกับเคมี
สรุปได้ว่า จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีไปใช้ใน 3 ลักษณะ คือ 1) เทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกันมากขึ้นในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ ดังตัวอย่างของการนำเอานาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีอื่น เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ 2) เทคโนโลยีแต่ละสาขาจะแตกแขนงในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ใหม่ดังตัวอย่างของการศึกษาด้านพันธุ์กรรม ที่ลงลึกในระดับการสังเคราะห์โปรตีน 3) การเข้าถึงเทคโนโลยี จะช่วยทำให้โลกแคบจากการเชื่อมโยงของส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (digital device) ในขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาและสถาบันการศึกษา จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา ทั้งการขยายฐานการศึกษาเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการส่งเสริมการเรียนการสอน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมกำลังคนสำหรับอนาคตใน 10-20 ปีข้างหน้าใน 3 รูปแบบ คือ เป็นเนื้อหาของการเรียน เป็นเครื่องมือและเป็นวิธีคิด เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและทันเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น